19 - 22 มิถุนายน 2567

ข่าวอุตสาหกรรม

ส่องอนาคตยานยนต์ไทย

ก้าวไกลกับยานยนต์ไฟฟ้า

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของหลายๆฝ่าย ทั้งสถาบันการศึกษาและหน่วยงานเอกชนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนต่างๆ ในปี 2015 ในโอกาสที่คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ เข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยอย่างเป็นทางการ คณะผู้จัดงานออโตโมทีฟ แมนูแฟกเจอริ่ง จึงได้เข้าพบเพื่อแสดงความยินดี และเพื่อขอรับฟังทิศทางของยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนแนวทางที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถนำไปปรับตัวเพื่อรองรับอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก

 

“จากสถิติการจดทะเบียนในปี 2019 ที่ผ่านไปนี้ ยานยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตขึ้นถึง 380% จากปี 2018 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียว และสำหรับปี 2020 นี้ จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยในครึ่งปีแรกมีสามพันกว่าคัน เทียบกับปี 2019 ที่มีราวหนึ่งพันห้าร้อยคัน เราคาดว่าในปี 2021 ยานยนต์ไฟฟ้าน่าจะยิ่งเติบโตขึ้นอีกเพราะการเข้ามาของบริษัทใหม่ๆ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง”

“ภาครัฐมีนโยบายจะนำรถยนต์ไฟฟ้าไปใช้ในหน่วยงานราชการมากขึ้น ซึ่งทาง EVAT ก็ได้ร่วมหารือเรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้องไปเสนอ โดยใช้แนวทางในการสนับสนุนผู้ใช้ สอดคล้องกับแนวทางจากประเทศที่ประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่าง เช่นแนวทางของประเทศในสหภาพยุโรป นอกจากนี้ เราเองก็สนับสนุนการวางโรดแมปสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในไทย เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนรถไฟฟ้าที่จดทะเบียนให้ได้ 1.2 ล้านคันภายในปี 2036 ตลอดจนเพิ่มจุดชาร์จไฟและหัวจ่ายตามสถานที่ต่างๆ โดยหนึ่งในสิ่งที่กำลังผลักดัน คือการหารือเรื่องการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าข้ามเครือข่ายผู้ให้บริการ และแพลตฟอร์มรับชำระเงิน เพื่อความสะดวกและโปร่งใสทั้งสำหรับผู้ใช้และผู้ให้บริการในประเทศ”

การเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าอาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ดั้งเดิม ซึ่งหลายชิ้นส่วนใช้ได้กับเครื่องยนต์สันดาปเท่านั้น ซึ่งคุณกฤษฎาได้แนะแนวทางปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการดังนี้

“ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับที่ 11 ของโลก และยานยนต์ที่ประกอบได้นั้นราว 50% จะจำหน่ายในประเทศ อีก 50% ส่งออกไปต่างประเทศ รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงเหล่านี้จะยังไม่หายไปในอนาคต เพียงแต่จะมีการลดสัดส่วนลงในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าขยายตัวเพิ่มขึ้น และชิ้นส่วนบางประเภท เช่นจานเบรกหรือผ้าเบรกก็ยังใช้ร่วมกันได้ แต่บางชิ้นส่วน เช่น เครื่องยนต์ จะโดนทดแทนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งจะส่งผลกับผู้ผลิตที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ไทยยังต้องนำเข้าเซลล์แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แต่ในอนาคต แบตเตอรี่จะเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญ ดังนั้นผู้ผลิตชิ้นส่วนควรมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่สามารถปรับเครื่องจักรที่มีอยู่ไปใช้ และติดตามแนวโน้มของเทคโนโลยี รวมถึงวัสดุใหม่ๆ ที่อาจเป็นที่ต้องการอย่างใกล้ชิด

 

ซึ่งการรู้เท่าทันตลาดจะช่วยให้หาโอกาสสร้างธุรกิจได้ทัน หนึ่งในวิธีที่จะช่วยได้ก็คือการเรียนรู้เทคโนโลยี ศึกษาประสิทธิภาพและแนวโน้มของอุตสาหกรรมยุคใหม่ และพบปะผู้มีความรู้ในงานแสดงสินค้าและสัมมนาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถวิเคราะห์แนวทางปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ”