19 - 22 มิถุนายน 2567

ปัจจัยสำคัญหนุนอุตสาหกรรม EV ในไทยให้โตไกลอย่างยั่งยืน

  • อุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งภาครัฐตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค
  • รัฐบาลมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อเร่งสนับสนุนการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าปลอดมลพิษ
  • เอกชนทั้งในและต่างประเทศขานรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน EV และระบบนิเวศ EV ที่ดี ช่วยขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรม EV ไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

 

การสนับสนุนและสิ่งจูงใจจากภาครัฐสำหรับประชาชน รัฐบาลไทยเสนอมาตรการจูงใจในการลงทุนอย่างกว้างขวางผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเกือบทุกกลุ่ม ล่าสุดออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV 3.5) ในช่วงเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567 – 2570) เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 ด้วยการอุดหนุนสูงสุดสำหรับรถยนต์และรถกระบะ 100,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ 10,000 บาท/คัน   


การสนับสนุนการผลิตในประเทศสำหรับผู้ประกอบการ ภายใต้ EV 3.5 รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศมีราคาถูกกว่ารถยนต์ไฟฟ้านำเข้า เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยลดอากรขาเข้า ไม่เกินร้อยละ 40 สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีแรก (2567 - 2568)  และลดอัตราภาษีสรรพสามิต จากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยกำหนดเงื่อนไขการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจากนั้นจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ในปี 2570 

ส่งเสริมทักษะแรงงาน พร้อมสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนา ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาบุคลากรให้กับอุตสาหกรรมนี้อย่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ออกนโยบาย “อว. For EV” พร้อมเร่งดำเนินการใน 3 แผนงาน คือ 1. EV-HRD พัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมไฟฟ้า 2. EV-Transformation การเปลี่ยนผ่านจากการใช้รถยนต์ระบบสันดาปมาเป็น EV ในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในกระทรวงอว. และ 3. EV-Innovation การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมใน EV โดยเป้าหมายของนโยบายนี้คือ การทำให้ประเทศไทยเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และผลิตยานยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดของประเทศไทยในปี 2573

 

ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ สถานีชาร์จที่มีอยู่กว่า 1,664 แห่ง ทั่วประเทศ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงยังมีการสนับสนุนให้รถสาธารณะหันมาขับเคลื่อนด้วยรถไฟฟ้า เช่น การท่าอากาศยานไทยตั้งเป้ามีรถแท็กซี่ไฟฟ้าให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1,000 คัน ในปี 67 ขณะที่กระทรวงคมนาคมวางแผนให้ขสมก.เปลี่ยนรถเมล์เป็นรถเมล์ไฟฟ้า เพิ่มเป็น 2,013 คัน ในปี 2568 โดยยังไม่รวมในส่วนของกลุ่มรถร่วมบริการ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของบริษัท EV และผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลก เช่น Neta Group, BYD, TESLA และ FOXCONN ยังคงไหลเข้ามายังประเทศไทย บ่งชี้ถึงโอกาสของประเทศในอุตสาหกรรม EV ที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะ FOXCONN ที่จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ ปตท. เพื่อสร้างโรงงานฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร บนพื้นที่กว่า 350 ไร่ ในพื้นที่ EEC

 

ศูนย์กลางระบบนิเวศและอุตสาหกรรมที่สนับสนุน ห่วงโซ่อุปทานด้านยานยนต์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย โดยมีบริษัทมากกว่า 1,700 แห่งในอุตสาหกรรมสนับสนุนขั้นต้น และความพยายามในการขยายโครงสร้างพื้นฐานของ EV บ่งชี้ถึงระบบนิเวศที่สนับสนุนสำหรับอุตสาหกรรม EV ประเทศไทยยังวางตำแหน่งตัวเองเป็นศูนย์กลาง EV ของอาเซียนอีกด้วย

ความร่วมมือและการลงทุนจากผู้เล่นยานยนต์รายใหญ่ นอกเหนือจากผู้ประกอบการจากจีน ผู้เล่นยานยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่นได้ประกาศการลงทุนครั้งสำคัญในการดำเนินการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ภายใน 4 ปีข้างหน้า ได้แก่ โตโยต้า 50,000 ล้านบาท ฮอนด้า 50,000 ล้านบาท อีซูซุ 30,000 ล้านบาท และมิตซูบิชิ 20,000 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและการสนับสนุนอย่างมากในยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้บีโอไอคาดการณ์ว่า เร็วๆ นี้ จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในประเทศทะลุ 2.27 แสนล้านบาท และก้าวขึ้นเป็น 10 อันดับแรกของโลก จากที่ในขณะนี้ได้อนุมัติสิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 77.26 พันล้านบาท

อุปสงค์ในประเทศและทั่วโลก มีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นว่าความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นในอนาคตตามเทรนด์ยานพาหนะสีเขียว โดยสต็อกรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกยังเพิ่มขึ้น บ่งชี้ถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และในฐานะที่ไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรม EV ก็ย่อมทำให้เติบโตไปพร้อมกัน โดย S&P Global Mobility คาดการณ์ว่ารถยนต์โดยสารไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (BEV)จะมียอดจำหน่าย 13.3 ล้านคันทั่วโลกในปี 2567 หรือคิดเป็นประมาณ 16.2% ของยอดขายรถยนต์โดยสารทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากในปี 2566 ซึ่งมี BEV ประมาณ 9.6 ล้านคัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดเพียง 12%

จากปัจจัยสำคัญดังกล่าว รวมถึงปัญหาขาดแคลนชิปที่เริ่มคลี่คลายนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 ทำให้ศูนย์วิจัยกรุงศรีคาดว่าจำนวน BEV จดทะเบียนใหม่ในปี 2567 และปี 2568 จะเติบโตได้ในอัตราเร่ง โดยน่าจะแตะระดับ 100,000 คันในปี 2568


โปรดติดตามบล็อกของเราอย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ายังคงมีมาอัปเดทอย่างสม่ำเสมอ และหากท่านใดต้องการสัมผัสกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านนี้ ต้องไม่พลาดเยี่ยมชมงาน Automotive Manufacturing 2024 งานแสดงเทคโนโลยีเพื่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ครบวงจร ที่ครบครันที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 19 ในวันที่ 19 - 22 มิถุนายน 2567 ณ ไบเทค บางนา  

Sources