อนาคตของยานยนต์ไร้คนขับในประเทศไทย
เทคโนโลยีที่มักได้รับความสนใจคู่กับยานยนต์ไฟฟ้า คือเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle: AV) หรือบางครั้งเป็นที่รู้จักในชื่อยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (connected and autonomous vehicle technologies: CAV) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) การประมวลผลภาพ (Computer vision) และเซนเซอร์อิเล็กทรอนิกส์หลากชนิดรวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ขับเคลื่อนยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการใช้ยานยนต์ไร้คนขับขนส่งผู้โดยสารและจัดส่งสินค้าในบางพื้นที่ของบางประเทศเช่นจีนและสหรัฐอเมริกา โดยสมาคมวิศวกรรมยานยนต์นานาชาติ (Society of Automotive Engineers International: SAE) ได้กำหนดระดับของเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับไว้ 6 ระดับดังนี้
ระดับ 0 (No Driving Automation): คนขับที่เป็นมนุษย์ควบคุมรถยนต์ทั้งระบบ
ระดับ 1 (Driver Assistance): ระบบอัตโนมัติที่สามารถช่วยเสริมการขับรถของมนุษย์
ระดับ 2 (Partial Driving Automation): ระบบอัตโนมัติสามารถทำหน้าที่ขับขี่ได้ส่วนหนึ่ง ขณะที่มนุษย์ผู้ขับขี่คอยสังเกตการณ์สภาพแวดล้อมและเป็นผู้ขับขี่หลัก
ระดับ 3 (Conditional Driving Automation): ระบบอัตโนมัติสามารถขับขี่และตรวจสอบสภาพแวดล้อมได้บางส่วน แต่คนขับมนุษย์จะต้องพร้อมเข้าควบคุมรถในกรณีที่จำเป็น
ระดับ 4 (High Driving Automation): ระบบอัตโนมัติขับรถและตรวจสอบสภาพแวดล้อมในการขับขี่ได้โดยไม่ต้องอาศัยมนุษย์ แต่เฉพาะในสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่กำหนดไว้เท่านั้น
ระดับที่ 5 (Full Driving Automation): ระบบอัตโนมัติดําเนินงานขับรถทั้งหมดภายใต้เงื่อนไขเทียบเท่ากับการขับรถโดยมนุษย์
นอกจากนี้ เทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติยังสอดคล้องกับ 2 เมกะเทรนด์ด้านเทคโนโลยีและความยั่งยืน หลายบริษัทจึงให้ความสนใจพัฒนาเทคโนโลยีนี้เพราะเชื่อว่าจะตอบโจทย์ทั้งด้านนวัตกรรม และการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
เส้นทางสู่การปรับใช้ยานยนต์อัตโนมัติในไทย
รัฐบาลไทยได้กำหนดให้การพัฒนายานยนต์ไร้คนขับเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาควบคู่กับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน” โดยได้กำหนดการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ในส่วนของการกำหนดนโยบายและเป้าหมาย ตลอดจนการพัฒนาต้นแบบและผลิตภัณฑ์ด้านยานยนต์สมัยใหม่ ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ รวมไปถึงข้อกำหนด กฎหมาย และแนวทางการสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบัน งานวิจัยยานยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในไทยยังอยู่ในระดับ 3 (Partial Driving Automation) โดยรถยนต์สามารถขับขี่ได้ด้วยตนเองในสภาพแวดล้อมและสภาวะที่ออกแบบไว้ เช่น วิ่งไปตามเส้นทางที่กำหนด หยุดตามจุดจอด และเบรกเมื่อมีสิ่งกีดขวางในพื้นที่ปิด แต่ยังคงต้องการมนุษย์ช่วยควบคุมในบางกรณี เช่น เมื่อมีรถมอเตอร์ไซค์ขับตัดหน้าหรือมีคนวิ่งตัดหน้า เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เปิดตัวรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับคันแรกในประเทศ โดยเป็นรถบัสที่วิ่งรอบอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเรียกใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน ระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2567 โดยเป็นผลงานศึกษาวิจัยและพัฒนาโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจกรรมโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมอบทุน 27 ล้านบาทให้ศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนา ร่วมกับบริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญระบบ 5G และการสื่อสารดิจิทัลที่เรียกว่า C-VX2 (Cellular Vehicle-to-Everything), บริษัท เจ็นเซิฟ จำกัด, บริษัท พนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด และบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน)
การจะพัฒนายานยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบในไทยยังต้องอาศัยการพัฒนาในอีกหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความปลอดภัย ซึ่งนอกจากนโยบายและกฎระเบียบ ก็ยังต้องอาศัยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากำลังคน รวมทั้งการสร้างความรับรู้และความเชื่อมั่นในระดับสาธารณะ เพื่อวางรากฐานการเติบโตอย่างยั่งยืนของยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย
ที่มา
- https://www.synopsys.com/blogs/chip-design/autonomous-driving-levels.html
- https://www.eeci.or.th/news/ยานยนต์อัตโนมัติ-connected-and-autonomous-vehicle-cav-ก/
- https://today.line.me/th/v2/article/Qw7Mp3e
- https://www.dailynews.co.th/news/2130285/
- https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/AI-Autonomous-Car-2024