ก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีพัฒนาการมานานกว่า 60 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ทว่าในทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเกิดการแข่งขันจากประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนและทรัพยากรแร่สำหรับผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า จึงเกิดคำถามสำคัญว่าผู้ผลิตรถยนต์สันดาป (ICE) ของไทยควรปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่าในปี 2567 อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนติดอันดับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรกของไทย รวมมูลค่า 102,366 ล้านบาท มีจำนวนทั้งสิ้น 309 โครงการ ประกอบด้วยโครงการลงทุนผลิตรถยนต์ EV และ ICE โดยค่ายญี่ปุ่น จีน และยุโรป การผลิตยางล้อรถยนต์ ยางล้ออากาศยาน ระบบอัจฉริยะในรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์อื่นๆ
แนวทางส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทย
ในปี 2564 คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กำหนดแนวทางส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ZEV (Zero Emission Vehicle) ตามนโยบาย 30@30 โดยตั้งเป้าผลิตรถ ZEV อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 และในปัจจุบัน บีโอไอได้ให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกเซกเมนต์ รวมทั้งแบตเตอรี่และสถานีชาร์จ โดยในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท มีโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่ (BEV) 18 โครงการ มีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารวม 400,000 คัน
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนหลายค่ายที่เข้ามาลงทุนในไทย เช่น BYD, MG, Great Wall Motor, Changan Automobile, GAC Aion, NETA, Foton และ Omoda & Jaecoo ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสถานะของไทยในการเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญอีกแห่งของโลก
3 แนวทางปรับตัวของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย
LiB Consulting ได้เสนอแนะแนวทางเพื่อการปรับตัวให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 3 ประการ
- ปรับกลยุทธ์สร้างความเป็นผู้นำด้านต้นทุน (Cost Leadership) โดยรักษาฐานการผลิตยานยนต์ ICE ไว้ พร้อมวางยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกับจีนตามนโยบาย China + Alpha โดยควบคุมต้นทุนให้แข่งขันได้
- เพิ่มความหลากหลายในการผลิต โดยผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ EV ควบคู่ไปกับ ICE เพื่อดึงดูดค่ายรถยนต์ใหม่ๆ และลดความเสี่ยงทางธุรกิจ
- ร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ จากศักยภาพที่มีอยู่แล้ว เช่น MaaS (Mobility as a service), BaaS (Battery as a service), Agtech (Agricultural technology) เพื่อการรองรับยานยนต์แห่งอนาคต
บทสรุป
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังคงมีโอกาสปรับตัวอย่างยั่งยืน โดยการใช้กลยุทธ์ต่างๆ เช่นเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ และความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน รวมถึงกับผู้ผลิตยานยนต์จากต่างประเทศ เพื่อคงไว้ซึ่งศักยภาพในการแข่งขัน และรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต